เด็กก็ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง แต่ลูกของเราก็อยากโต เพราะกำลังเข้าสู่วัยรุ่นว้าวุ่นใจ เนื่องจากวิถีชีวิตของลูกมีการเปลี่ยนแปลงตามวัยหลายด้านทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ลูกมีเรื่องต้องขบคิดมากมายทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน ทั้งเรื่องเกี่ยวกับตนเองและเรื่องเกี่ยวกับเพื่อน ๆ ที่เป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศ หรือเกี่ยวกับเพื่อนที่มีตัวตนจริง ๆ หรือเพื่อนอวตารในโลกออนไลน์ เราในฐานะผู้ดูแลลูก ควรต้องปรับตัวและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองอย่างไร เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนผ่านทางอารมณ์ของลูก และเพื่อไม่ให้เราเองมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ว้าวุ่นตามลูกไปด้วย วิธีการที่เราจะรับมือกับสภาวการณ์เช่นนี้มีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
เราต้องเข้าใจตัวตนของลูกว่า ลูกกำลังเปลี่ยนผ่านวัย ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจริญเติบโต ลูกอาจเกิดความสับสน สงสัยใคร่รู้ วิตกกังวล ขาดความมั่นใจ ไม่เข้าใจในความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆฯลฯ เราต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นและอาจเกิดขึ้นต่อไป บางครั้งลูกคิดว่าตัวเองโตแล้ว อยากมีความเป็นอิสระมากขึ้น อยากตัดสินใจเองในสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาในชีวิต การพูดคุยกับลูกในบรรยากาศที่เป็นกันเองและสบายใจได้ด้วยเหตุผล ไม่เอาแต่ตำหนิติเตียน จะช่วยให้ลูกกล้าพูดและกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง และพร้อมรับฟัง เราต้องหมั่นสังเกตความรู้สึกและอารมณ์ของลูก เช่นลูกไม่สบายใจหรืออย่างไรเมื่อกลับจากโรงเรียน หรือมีสัญญาณใดหรือไม่ที่แสดงว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียนจากการกลั่นแกล้งของเพื่อน หรือติดเพื่อนมากจนความคิดไขว้เขว และกลายเป็นเด็กก้าวร้าวเมื่อไม่สบอารมณ์ เราต้องพยายามแบ่งปันความรู้สึกและอารมณ์ของลูก ด้วยการปลอบประโลมและสร้างความมั่นใจให้ลูกว่าเราจะอยู่เคียงข้างลูก ให้พื้นที่ปลอดภัยกับลูกในการบอกเล่าเรื่องราวให้เราฟัง และเราต้องหาทางช่วยคลี่คลายปัญหาให้ลูก ให้คำแนะนำ และให้ทางเลือกในการตัดสินใจ หากลูกอยากได้ความเป็นอิสระบนพื้นฐานของเหตุผลและความเหมาะสม และฝึกลูกให้สามารถจัดการกับอารมณ์ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งฝึกตัวเราเองด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ระบายระเบิดอารมณ์ใส่ลูก
จัดสรรเวลาของเราเอง ของลูก และของสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว เพื่อการทำกิจวัตรร่วมกัน การได้พบปะพูดคุยกันตัวเป็น ๆ หัวเราะสังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้กันในครอบครัว ไปเที่ยวพักผ่อนวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วยกัน ชวนลูกไปเดินเล่นออกกำลังกายกันที่สวนหย่อม ดูหนังฟังเพลง แดนซ์กันให้กระจาย เล่นเกมเป็นกลุ่ม เราต้องเป็นฝ่ายก้าวเข้าไปหาลูกในจังหวะที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เราสังเกตเห็นว่าลูกต้องการเพื่อนคู่คิด/ที่ปรึกษา เราต้องรู้จักสังเกตภาษากายของลูกที่สื่อสารออกมาให้เรารับรู้โดยลูกไม่ได้พูด การพูดคุยกับลูกจะไม่ได้ผล หากลูกยังต้องต่อสู้กับอารมณ์ที่รุนแรงของตัวเอง เราต้องใจเย็นก้าวเข้ามาก่อน หรืออาจต้องรอจนกว่าลมร้อนของลูกจะพัดผ่านไป ในบางครั้งการที่ลูกเงียบเกินไป ก็ไม่ใช่เรื่องดี จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องใช้สัมพันธภาพที่ดีที่มีต่อกัน มาเป็นตัวช่วยในการค้นหาปัญหาเพื่อการแก้ไข เพราะบางครั้งปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวลูก แต่ตัวเราเองหรือสมาชิกในครอบครัวคนใด อาจมีส่วนทำให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นหรือคงอยู่ก็เป็นได้
ลูกคิดว่าตัวเองโตแล้ว อยากมีอิสระเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น ไม่อยากให้เราไปส่งที่โรงเรียน หรือไม่อยากกลับรถโรงเรียน แต่อยากไปและกลับพร้อมกับเพื่อน หากหนทางไม่ไกลและไม่ยากลำบากเกินไป เราอาจยอมให้อิสระกับลูก พร้อมกับให้คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง หรือเลิกเรียนแล้วลูกขอแวะกินขนมหน้าปากซอยกับเพื่อนก่อนกลับบ้าน หรือวันหยุดลูกขออนุญาตชวนเพื่อนมาเที่ยวบ้าน มานั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ดูหนัง เล่นเกมด้วยกัน เราควรสนับสนุนพร้อมกับหาขนมอร่อย ๆ ไว้ให้เด็ก ๆ ด้วย หรือเมื่อลูกอยู่ในกลุ่มเพื่อน ๆ เด็ก ๆ มีกิริยามารยาทแบบเก็บทรงไม่อยู่ หรือพูดจาหวือหวาแบบที่ทำให้เราหัวจะปวด เราก็ต้องทำเป็นไม่ได้ยิน เอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียบ้าง ให้พื้นที่ส่วนตัวเพื่อความเป็นอิสระของลูก เพราะนั่นคือการแสดงความสนิทสนมกลมเกลียวรักใคร่สามัคคีกันในกลุ่มเด็ก ๆ และพวกเขามีภาษาเฉพาะกลุ่มใช้สื่อสารกัน หรือแต่ก่อนนี้ลูกยอมให้เราจัดชุดเสื้อผ้าให้ตามใจเรา แต่ตอนนี้ลูกต้องการอิสระ จัดเต็มชุดสไตล์อินเทรนด์ตามใจฉัน หรือตามแบบเพื่อนเพื่อจะได้เข้าแก๊งวัยวุ่น หากไม่เกินเลยมากนัก เราก็ผ่อนสั้นผ่อนยาวไปบ้าง เพื่อความสงบสุขร่วมกันในครอบครัว
สมองของลูกเราในวัยรุ่นตอนต้นกำลังมีพัฒนาการเพื่อการเติบโตอย่างเต็มที่ ลูกมีจินตนาการที่กว้างไกล อยากเรียนรู้หาประสบการณ์แปลกใหม่ อยากสร้างคุณค่าและทดลองขีดความสามารถของตนเอง รวมทั้งอยากได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากเรา และหากสิ่งที่ลูกต้องการ ไม่ได้เกินขีดความสามารถของครอบครัว เราก็ควรจัดหาให้ลูก เพื่อลูกจะได้แสดงออกถึงศักยภาพของตนเองในทางที่เหมาะสม เช่น ลูกอยากเขียนนวนิยายลงในเว็บไซต์ที่สนับสนุนเด็ก ๆ ในงานเขียนวรรณกรรมออนไลน์ ลูกก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการผลิตผลงานที่มีประสิทธิผล ได้แก่ แท็บเล็ต ปากกาเขียนแท็บเล็ต มุมสบายและสงบเพื่อการถ่ายทอดจินตนาการ โดยมีการจัดตารางเวลาการทำงานที่เหมาะสมกับสุขภาพ หรือลูกอยากเรียนดนตรีประเภทใด เราก็พาไปเข้าคอร์สอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะ และจัดซื้อเครื่องดนตรีให้เพื่อลูกจะได้ฝึกปรือความสามารถ ฯลฯ หากเราเข้าใจโลกแห่งการเรียนรู้และความต้องการของลูก และช่วยลูกให้สามารถตอบสนองอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกของลูกได้ จะเป็นการพัฒนาให้ลูกเติบโตได้อย่างมีความสุข
พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เราก็มาถึงจุดเปลี่ยนที่ต้องปรับตัว เพื่อให้ตามทันกับพัฒนาการของลูกยุคดิจิทัล และช่วยให้ลูกก้าวผ่านช่วงวัยแปรผันได้อย่างมีความสุข และสร้างพัฒนาการที่ดี เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ในอนาคต
ณัณท์
ข้อมูลอ้างอิง
Social and emotional changes in pre-teens an teenagers https://raisingchildren.net.au/pre-teens/development/social-emotional-development/social-emotional-changes-9-15-years